สต๊อกน้ำนม เท่าไหร่ถึงจะพอ?

คำถามที่ได้ยินบ่อยๆ จากคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ ต้องสต๊อกน้ำนมไว้เท่าไหร่ถึงจะพอสำหรับลูก 

คำตอบคือ ถ้าต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนโดยไม่ใช้นมผสม ช่วงที่ลาคลอดสามเดือน ต่อให้เร่งทำสต๊อกได้เป็นพันออนซ์ก็จะไม่พอสำหรับลูก ถ้าแม่กลับไปทำงานแล้วปั๊มได้แค่วันละครั้ง หรือสองครั้ง  

แต่อย่าเพิ่งท้อ เพราะในทางกลับกัน แม้จะมีสต๊อกน้อยนิดแค่สิบยี่สิบออนซ์ก่อนไปทำงาน แต่ถ้าคุณแม่สามารถหาเวลาปั๊ม หรือบีบนมให้ลูกได้เท่ากับจำนวนออนซ์และมื้อที่ลูกกินตอนที่แม่ไปทำงาน คุณแม่ก็จะสามารถจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปนานเท่าไหร่ก็ได้ 

นี่คือปัญหาที่แม่หลายคนทำผิดพลาดเมื่อกลับไปทำงานนั่นเอง เพราะไม่ได้ปั๊มเท่ากับจำนวนมื้อที่ลูกกิน วันแรกที่กลับไปทำงาน บางคนปั๊มแค่ครั้งเดียวตอนเที่ยงอาจจะได้น้ำนมมากเป็นสิบออนซ์ ซึ่งมาจากมีนมสะสมมากจากที่เคยให้ลูกดูดตอนอยู่บ้านหลายครั้งในแต่ละวัน พอปั๊มวันละครั้งเดียวได้ไม่กี่วันก็จะได้นมน้อยลงจนน่าตกใจ ยิ่งถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ นมก็จะลดลงเรื่อยๆ จนไม่พอในที่สุด เพราะร่างกายตอบสนองกับความต้องการที่ลดลงนี้โดยอัตโนมัติ 

ดังนั้น ปั๊มนมให้บ่อย อย่าทิ้งช่วงการปั๊มนาน และจงทำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ปริมาณน้ำนมก็จะไม่ลด เพราะถูกกระตุ้นให้ผลิตใหม่ทุกวันจากการเอาออกนั่นเอง 

แต่ถ้าคุณแม่โชคร้าย ที่ทำงานไม่สะดวกให้ปั๊มนมได้วันละ 3 - 4 ครั้ง ควรพยายามหาเวลาปั๊มให้ได้อย่างน้อย 2 ครั้ง อาจจะสักช่วงเที่ยงกับบ่ายสาม และมาปั๊มชดเชยตอนตีห้า กับห้าทุ่ม - เที่ยงคืนเพิ่ม โดยในมื้อที่ปั๊มชดเชยก็พยายามให้ลูกกินข้างเดียว แล้วปั๊มเก็บอีกข้าง ทำแบบนี้สักอาทิตย์ ร่างกายจะรับรู้ว่ามีความต้องการในเวลานั้นๆ  มากกว่ากลางวัน ก็จะปรับการผลิตน้ำนมให้เอง 

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของคุณแม่ คือ บีบนมไม่เป็น หรือใช้เครื่องปั๊มนมที่ไม่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถปั๊มนมออกมาได้เท่ากับที่ลูกเคยดูดในแต่ละมื้อ เช่น ถ้าลูกกิน 3 ครั้ง รวม 12 oz แล้วเราปั๊มได้  3 ครั้ง รวม 12 oz หรือมากกว่า ถือว่าเครื่องปั๊มนมนั้นใช้ได้ ปกติถ้าช่วงลา 3 เดือน แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วน โดยไม่ใช้นมผสม พอกลับไปทำงาน ถ้าบีบด้วยมือได้คล่องและชำนาญ หรือใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดี บีบหรือปั๊มเท่าจำนวนครั้งที่ลูกกินที่บ้าน ส่วนใหญ่จะปั๊มได้มากกว่าที่ลูกต้องการนิดหน่อยอยู่แล้ว 

มาถึงคำถามที่ว่า ต้องมีสต๊อกเท่าไหร่ถึงจะพอ?

จำนวนสต๊อกน้ำนมที่น่าจะพอดีก่อนไปทำงานขึ้นอยู่ที่ว่า คุณแม่เป็นคุณแม่ปั๊มล้วนไม่ ทำงานห่างลูกนานแค่ไหน เริ่มกลับไปทำงานเมื่อไร ที่ทำงานให้ปั๊มนมได้สะดวกไหม เดินทางไปกลับอย่างไร ใครเลี้ยงลูกและใช้นมเหมาะสมหรือไม่ ฯลฯ จะเห็นได้ว่ามีหลายปัจจัยมาก และก็มีหลายปัจจัยเช่นกันที่คุณแม่ไม่สามารถควบคุมได้  

คำแนะนำตรงนี้เราอ้างอิงจากประสบการณ์ของทีมงาน และการลางานได้ 3 เดือน แต่หากลาได้มากหรือน้อยกว่านี้ อาจจะต้องปรับแผนให้เหมาะสมอีกครั้งด้วย คำแนะนำเป็นดังนี้ 

  • กรณีเป็นคุณแม่ปั๊มล้วน และต้องห่างลูกแบบไม่ได้เจอกันเลย เช่น คุณแม่และลูกอยู่คนละจังหวัดกัน แนะนำให้ทำสต๊อกไว้ให้มากที่สุด เริ่มทำสต๊อกแต่เนิ่นๆ  ต้องรักษารอบปั๊ม วันละ 8 - 10 รอบ เพราะน้ำนมจะลดลงตามวัยลูกด้วยฮอร์โมนหลังคลอดที่ปรับเปลี่ยนไปด้วย กรณีที่ไม่ต้องเลี้ยงลูกกลางคืน คุณแม่ควรจะตื่นมาปั๊มนมเป็นกิจวัตร  
  • กรณีเป็นคุณแม่ปั๊มล้วน ถ้าไปทำงานห่างลูกเพียงแค่ช่วงกลางวัน แต่ลูกไม่ดูดเต้ากลับบ้านมายังต้องเลี้ยงลูกด้วย กรณีนี้ แม่จะเหนื่อยมากเวลาเริ่มกลับไปทำงาน จึงควรเร่งทำสต๊อกน้ำนมไว้ให้มาก หลายคนที่เมื่อเริ่มทำงานแล้วจะเหนื่อยจนลุกไม่ขึ้น ตกรอบปั๊มกลางคืน จนทำให้น้ำนมลดลงอย่างรวดเร็ว
  • ถ้าไปทำงานห่างลูกเพียงแค่ช่วงกลางวัน แต่ลูกดูดเต้าได้ดี กรณีนี้ ทำสต๊อกพอใช้สัก 30 - 50 ถุง ถุงละ 2 - 4 ออนซ์ ก็น่าจะเพียงพอ เมื่อห่างลูกให้รักษารอบปั๊มทุก 2 - 3 ชั่วโมง มีเป้าหมายให้ได้น้ำนมคืนมามากกว่าหรือเท่ากับที่ใช้ไปแต่ละวัน และเมื่อกลับมาเจอลูกให้เข้าเต้าไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจากกัน ถ้าตื่นมาปั๊มตอนกลางคืนไหว ก็ให้ปั๊มเก็บสะสมไว้ด้วย ถ้าไม่ไหวแต่ว่าลูกดูดเต้ากลางคืนสม่ำเสมอ แบบนี้จะมีน้ำนมได้นาน ไม่ต้องทำสต๊อกมาก ในทางกลับกันสต๊อกนมที่มีมากเกินไปก็อาจจะสร้างความไม่สะดวกได้เช่นกัน เพราะไม่มีที่เก็บ
  • กรณีเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ ไม่ต้องทำงานประจำ ให้ลูกดูดเต้าได้ทุกมื้อ มีสต๊อกไม่ถึง 10 ถุงก็พอแล้ว เผื่อเวลาแอบหนีลูกไปช้อปปิ้งสัก 3 - 4 ชม. อย่างเก่งก็แค่มื้อเดียว กลับมาบ้านลูกกินนมไปแล้ว ก็มาปั๊มเก็บไว้แทนที่ใช้ไป 1 มื้อ 

คุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าจะปั๊มได้ไม่เท่ากันในแต่ละวัน บางวันปั๊มได้นมมาก บางวันได้น้อย ถือเป็นเรื่องธรรมดาเพราะการผลิตน้ำนมขึ้นกับสุขภาพร่างกายของแม่ด้วย วันไหนอารมณดี กินอิ่ม นอนเยอะ ก็ปั๊มได้เยอะ วันไหนเครียด กินน้อย นอนไม่พอ ก็ปั๊มได้น้อย  

ขอแค่ปั๊มให้สม่ำเสมอ ทำให้ได้ทุกวัน ดูแลเต้านมให้ดี เลือกเครื่องปั๊มที่เหมาะสมกับสรีระและการใช้งานก็จะทำให้ปั๊มแล้วไม่เกิดการบาดเจ็บ

Visitors: 94,946