เต้านมอักเสบ อันตรายกว่าที่แม่คิด

ปวดเต้า แดง เจ็บปวดมาก ทำอย่างไรดี?

นี่คืออาการ "เต้านมอักเสบ" ที่แม่หลายคนกลัว หลายคนประสบมาแล้วรู้ว่ามันเจ็บปวดทรมานแค่ไหน จนทำให้แม่หลายคนล้มเลิกความตั้งใจที่จะเดินต่อไปบนเส้นทางของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

 

อาการเต้านมอักเสบ เกิดได้บ่อยกว่าในคุณแม่ที่เป็นนักปั๊มล้วนเมื่อเทียบกับคุณแม่ที่ให้ลูกดูดเต้าด้วย มักเกิดจากการระบายน้ำนมที่ไม่ดีพอ ค้างเต้า ปั๊มไม่เกลี้ยง ปั๊มไม่ถูกวิธี  หรือปั๊มแล้วเกิดการบาดเจ็บของท่อน้ำนมจนน้ำนมคั่งค้าง ขาดวินัย ปล่อยเต้าคัดทิ้งไว้ ชอบกินอาหารหวาน มัน ของทอดบ่อยๆ 

 

อาการเต้านมอักเสบเป็นอย่างไร?

ส่วนใหญ่มีอาการปวด บวม แดง ร้อนที่เต้านม คุณแม่อาจมีไข้ร่วมดัวย ถ้าทิ้งไว้ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม ก็มักทำให้มีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อเต้านมขึ้นได้จริงๆ ต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษา แล้วก็อาจถึงขั้นเป็นฝีหนองได้ โดยอาการหลักๆ ได้แก่

• เต้านมไวต่อการสัมผัสมาก รู้สึกเจ็บระบม แค่โดนนิดๆ ก็เจ็บ

• รู้สึกอ่อนเพลีย เหมือนไม่สบาย

• เต้านมบวม เป็นก้อนขึ้นมา

• เวลาให้นม หรือปั๊มนม จะเจ็บปวด หรือแสบ ซึ่งอาจมีอาการเจ็บหรือแสบตลอดเวลา

• ผิวเต้านมตรงที่อักเสบจะแดง มักเป็นรูปปิรามิด สังเกตดูเป็นสามเหลี่ยม หรือโคนไอศกรีม

• มีไข้มากกว่า 38.3 องศาเซลเซียส

• มักเป็นข้างเดียว แต่อาจเป็นสองข้างพร้อมกันได้

 

เต้านมอักเสบเกิดจากอะไร?

สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่นมระบายออกไม่ทันจนท่อน้ำนมตัน นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนผิวหนังของคุณแม่ หรือจากช่องปากลูก ที่หาวิธีเข้าสวนทางไปในท่อน้ำนมจากอาการหัวนมแตก แต่แม้หัวนมไม่แตก เชื้อโรคก็อาจย้อนเข้าไปได้เช่นกัน แต่เชื้อเหล่านี้ไม่ได้ก่อโรคอันตรายอะไร จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องนั่งขัดถูล้างหัวนมให้ปราศจากเชื้อ

 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเต้านมอักเสบ

• ให้นมท่าเดียว ลูกดูดไม่เก่ง หรือเข้าเต้าไม่ถูกต้อง ทำให้นมไม่ออกหมด

• ปั๊มไม่เกลี้ยงเต้า ขาดวินัยในการปั๊มนม จึงควรได้รับคำแนะนำการปั๊มนมที่ถูกต้อง เลือกใช้เครื่องที่เหมาะสม เลือกกรวยให้เข้ากับสรีระของเต้านม หัดบีบน้ำนมด้วยมือ และไม่ตกรอบปั๊ม

• ใส่บราฟิตเกินไป ทำให้นมไหลออกไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนปั๊มนม

• กินอาหารหวาน มัน ของทอด

• หัวนมแตก หัวนมแห้ง

• มีประวัติเคยเป็นมาก่อน ทำให้มีโอกาสเป็นได้อีก

 

อาการแทรกซ้อน

• เป็นซ้ำๆ โดยเฉพาะหากรักษาช้าหรือรักษาไม่ถูกวิธี

• น้ำนมลด

• เป็นฝีหนอง เป็นถึงขั้นนี้แล้วต้องรักษาด้วยการผ่าเอาหนองออก ต้องกินยาหยุดน้ำนม ทำให้ให้นมต่อไปไม่ได้ จึงไม่ควรทนอาการจนถึงขั้นนี้ 

 

การรักษาและยาที่ใช้

• พักผ่อนให้เพียงพอ

• ให้นมต่อ ไม่ต้องหยุด

• ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยลดไข้

• ใช้ยาแก้ปวดลดไข้

• พยายามเอาน้ำนมออกให้ได้มากที่สุด ทำให้เกลี้ยงเต้า

• หากลูกไม่ยอมดูดจากข้างที่เป็น ต้องปั๊มหรือบีบด้วยมือเอาน้ำนมออก

• ก่อนให้นมควรประคบร้อน และนวดเบาๆ หรืออาบน้ำอุ่นแล้วนวดเต้านม เพื่อช่วยระบายท่อน้ำนมที่ตัน

• หลังให้นม ปั๊มหรือบีบมือต่อ และประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ

• ปรับวิธีการให้นม ดูให้ดีว่าลูกดูดนมถูกไหม คุณแม่เอาลูกเข้าเต้าถูกหรือยัง ถ้าไม่แน่ใจต้องรีบพบผู้เชี่ยวชาญที่คลินิกนมแม่เพื่อปรับท่าเข้าเต้า ถ้าลูกดูดนมถูกท่าจะทำให้น้ำนมออกดีที่สุด

 

เต้านมอักเสบขนาดไหนต้องถึงมือหมอ

• ถ้าอาการยังคงเป็นอยู่ครบ 24 ชั่วโมง ไม่ดีขึ้นแม้ได้ลองทำตามวิธีข้างบนแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะ และกินยาให้ครบ

• หากทานยาปฏิชีวนะจนครบแล้ว อาการยังมีอยู่ ต้องไปพบแพทย์

• หากอาการเต้านมอักเสบเป็นทั้งสองข้าง ต้องพบแพทย์

• ลูกเล็กเกินกว่า 2 สัปดาห์ หรือคุณแม่เพิ่งออกจากโรงพยาบาล

• หัวนมแตก และมีการติดเชื้อชัดเจน

• มีเลือด หรือหนอง ปะปนออกมากับน้ำนม

• ไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว

• อาการเป็นมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

• โรคมะเร็งเต้านมบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการเต้านมบวมอักเสบได้ แต่พบน้อยมาก แพทย์จะช่วยวินิจฉัย

 

จะป้องกันไม่ให้เต้านมอักเสบได้อย่างไร?

• ระบายนมออกให้หมดทุกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยลูกดูด หรือปั๊มให้เกลี้ยงและมีวินัยในการปั๊ม

• ให้ลูกดูดให้หมดทีละข้าง ก่อนเปลี่ยนข้างให้นม ถ้าลูกอิ่มเร็ว รอบหน้าที่จะให้นมก็ต้องให้ข้างที่ยังให้ไม่หมด

• ถ้ารอบที่แล้วให้เต้าซ้ายก่อน รอบหน้าให้เต้าขวาก่อน

• หัดเปลี่ยนท่าให้นม

• ปรับท่าให้นมให้ลูกเข้าเต้าให้ถูก ดูดนมออกจริง

 

ปกติแม่มือใหม่ก็เจอปัญหามากมายในการให้นมอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามาเจอปัญหาเต้านมอักเสบอีก จะยิ่งรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อ่อนใจ หมดกำลังใจได้ หรือบางครั้งแม่มือใหม่เกิดอาการเต้านมอักเสบ แล้วเห็นลูกมีอาการฮึดฮัดไม่กินนมจากเต้าดีๆ เหมือนเคย ยิ่งพานคิดไปว่าลูกอยากเลิกกินนม อย่าเพิ่งคิดเช่นนั้น เพราะถ้าเข้าใจก็สามารถหาวิธีแก้ไขได้ 


สำหรับคุณแม่นักปั๊มที่ต้องการคำปรึกษาหรือคำแนะนำที่ถูกด้องในการปั๊มนม การเลือกเครื่องปั๊มและกรวยที่เหมาะสมและเข้ากับสรีระของเต้านม รวมทั้งคำแนะนำในการหัดบีบน้ำนมด้วยมือ สามารถติดต่อที่ นมแม่เซ็นเตอร์ โทร. 02 187 8165 ทีมโค้ชนมแม่ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรง พร้อมให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ทันที

Visitors: 96,116