EP 5 20 เคล็ดลับสำหรับแม่ทำงาน ตอนที่ 2


บทที่ 5 - 20 เคล็ดลับสำหรับแม่ทำงาน ตอนที่ 2

 

ทำชีวิตให้ง่ายขึ้น

     11. ทำให้การออกจากบ้านตอนเช้าเป็นเรื่องง่ายขึ้น ลูกจะทำให้กิจวัตรประจำตอนเช้าวันทำงานของคุณไม่ราบรื่นเหมือนเดิม
           ลองใช้เทคนิคเหล่านี้ช่วยให้คุณไปเข้างานทันเวลา

  • อย่าเข้านอนดึก และตั้งนาฬิกาปลุกเช้าขึ้นเพื่อคุณจะได้ให้นมลูกได้ก่อนลุกออกจากเตียง จะได้มีเวลาอาบน้ำแต่งตัว
  • เตรียมของใช้ให้พร้อมตั้งแต่ก่อนเข้านอน เลือกชุดใส่ไปทำงาน จัดของลูกใส่กระเป๋า เอาขวดนมแช่เตรียมไว้ในตู้เย็น  ล้างอุปกรณ์และเตรียมเครื่องปั๊มนมไว้ให้เรียบร้อย
  • เลือกทรงผมที่ดูแลง่าย จะได้เสียเวลาแต่งผม หน้ากระจกตอนเช้าน้อยลง
  • ถ้ารูปร่างคุณยังไม่เข้าที่ ลงทุนซื้อเสื้อผ้าใหม่ที่เหมาะกับรูปร่าง
  • ให้ลูกเข้าเต้าก่อนไปทำงาน นมจะได้เกลี้ยงเต้า และไม่ต้องรีบปั๊มนมทันทีที่ถึงที่ทำงาน รออีก 2-3 ชั่วโมงจึงปั๊มก็ได้

     12. ทำให้การออกไปทำงานและกลับถึงบ้านเป็นเรื่องของความสุข

  • ให้นมลูกที่บ้านหรือที่เนอร์สเซอรีก่อนไปทำงานและทันทีที่กลับถึงบ้าน เพราะลูกจะได้รับนมแม่จากเต้ามากขึ้น และลดปริมาณน้ำนมที่คุณต้องปั๊มในแต่ละวันลง
  • โทรบอกพี่เลี้ยงว่าอย่าป้อนนมขวดลูกก่อนคุณกลับถึงบ้านสักชั่วโมง เพื่อรอให้ดูดจากเต้าแม่ดีกว่า ถ้าลูกหิวหรือคาดว่าจะกลับถึงบ้านช้าหน่อย บอกพี่เลี้ยงให้ป้อนนมแค่พอประทังหิวไปก่อน จนกว่าคุณจะกลับถึงบ้าน
  • เมื่อถึงบ้านแล้วพยายามสานสัมพันธ์กับลูก ให้เวลากับลูก ทิ้งงานบ้านไว้ก่อน  เปลี่ยนใส่ชุดสบายๆ เปิดเพลงเบาๆ ฟัง นั่งในมุมโปรดกอดลูก ให้ลูกเข้าเต้า และสร้างความผูกพันชดเชยเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน

 

     13. ทำให้การปั๊มนมเป็นเรื่องง่าย เครื่องปั๊มเป็นอุปกรณ์จำเป็นของแม่ทำงานที่ให้นมลูก แม่ๆ หลายคนหากระเป๋าใบสวยขนาดกำลังเหมาะ
             ไว้ใส่เครื่องปั๊มนมไปทำงานและนำนมที่ปั๊มได้กลับบ้าน ลองเลือกใช้เทคนิคเหล่านี้

  • หาเครื่องปั๊มที่เหมาะกับคุณ คุณจะต้องใช้เวลาอยู่กับมันเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่ชอบปั๊มที่ใช้อยู่ ทางที่ดีก็น่าจะลงทุนซื้อปั๊มใหม่ที่ชอบ
  • เครื่องปั๊มไฟฟ้าดีๆ ที่ปั๊มได้สองข้างพร้อมกัน จะช่วยให้คุณสามารถปั๊ม  และเก็บทุกอย่างเข้าที่ได้ในเวลา 15-20 นาที
  • การบีบน้ำนมด้วยมือหรือการใช้เครื่องปั๊มคุณภาพไม่ค่อยดี อาจจะทำให้ต้องเสียเวลามากขึ้น กลายเป็น 30 นาทีหรือนานกว่า
  • เมื่อปั๊มเสร็จแต่ละรอบ สามารถถอดชุดอุปกรณ์ปั๊มใส่ถุงสะอาดหรือกล่องใบใหญ่ๆ ปิดฝา เข้าตู้เย็นไว้ได้ ไม่ต้องล้างนึ่งทุกรอบปั๊ม ส่วนสายยางทิ้งไว้ที่ตัวเครื่อง
  • เลือกชุดทำงานที่เหมาะกับการให้นมลูก เสื้อหลวมๆ มีลวดลายจะช่วยพรางน้ำนมที่ไหลเลอะเสื้อผ้าได้ ชุดแบบสองชิ้นจะสะดวกกว่าในการปั๊มนมและให้นมลูก
  • ถ้าวันไหนปั๊มนมครบตามเวลาไม่ได้ อย่างน้อยปั๊มสัก 5-10 นาทีก็ยังดีกว่าไม่ปั๊มเลย ถ้าไม่ได้ปั๊มนมตามตารางเวลาบ่อยๆ จะทำให้น้ำนมลดน้อยลงได้
  • ถ้างานของคุณทำให้จัดตารางเวลาปั๊มนมได้ยาก อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน ให้คิดว่าเป็นโอกาสที่จะฝึกวินัยมากขึ้น
  • ถ้าวางแผนจะปั๊มในห้องทำงาน จัดที่หลบมุมสักหน่อยเผื่อมีใครเดินเข้ามาแบบกะทันหัน อาจจะวางหนังสือหรือกองเอกสารไว้ที่มุมโต๊ะบังไว้
  • ถ้ามีใครในที่ทำงานของคุณปั๊มนมให้ลูกเหมือนกัน ลองหาโอกาสพักหรือทานอาหารกลางวันด้วยกันระหว่างที่ปั๊ม เป็นการชดเชยที่เสียโอกาสที่จะได้ไปทานอาหารกลางวันร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ
  • หากำลังใจจากแม่ที่ทำงานและปั๊มนมเหมือนๆ กัน
  • ท่องเอาไว้ว่าคุณแค่ปั๊มนมให้ลูกเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แค่นั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องปั๊มตลอดไป

 

เคล็ดลับ : อย่าเสียดายนมที่หกไปแล้ว เตรียมใจไว้เลยว่าอาจจะต้องทิ้งนมไปบ้าง เป็นเรื่องทำใจยากหน่อยแต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะระวังมากแค่ไหนก็ตาม

     14. ขอแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงาน “อธิบาย ขอบคุณ ขอโทษ” อาจมีเพื่อนร่วมงานของคุณบางคนบ่นเรื่องที่คุณแอบไปปั๊มนมบ่อยๆ
           บางคนมักออกความเห็นเรื่องปั๊มของคุณ เรื่องนมที่แช่อยู่ในตู้เย็น หรือเรื่องเวลาที่คุณให้กับลูก คำพูดพวกนี้คงทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจนัก
           และอาจกลายเป็นเรื่องหมางใจกันระหว่างเพื่อนร่วมงานไปได้ ลองใช้คำแนะนำต่อไปนี้ดูเผื่อจะช่วยให้เพื่อนร่วมงานหันมาเป็นแนวร่วม
           ของคุณได้

  • ใช้อารมณ์ขัน หัวเราะไปเลยเวลามีคนแหย่คุณเกี่ยวกับเรื่องนี้
  • เฉยๆ ไว้ไม่ต้องกระโตกกระตากอะไรในที่ทำงาน บางคนเขาไม่รู้หรอกว่าคุณเก็บอะไรไว้ในกระเป๋าหรือตู้เย็น
  • บอกเพื่อนร่วมงานว่าลูกของคุณจำเป็นต้องได้รับนมแม่เนื่องจากเหตุผลทางการแพทย์ เช่น “ลูกฉันเป็นภูมิแพ้”
  • บอกเล่าประโยชน์ของนมแม่ให้คนอื่นฟัง โดยเฉพาะคนหลักๆ ที่คุณติดต่อด้วย (“สามีของฉันเป็นภูมิแพ้อย่างหนัก แต่นมแม่จะช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นเหมือนกันได้” หรือ “หกเดือนแล้วนะ ยังไม่เคยเป็นหูอักเสบเลย”)
  • เล่าให้เพื่อนร่วมงานฟังว่าการให้ลูกเข้าเต้าแม่เวลาอยู่บ้านและการปั๊มนมให้ลูกตอนอยู่ที่ทำงาน ช่วยให้คุณรู้สึกผูกพันกับลูกมากแค่ไหน
  • ขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่ช่วยทำงานแทนให้ตอนคุณไปปั๊มหรือให้นมลูก และช่วยเหลือเขาเป็นการตอบแทนเวลาที่เขาต้องการให้คุณช่วย
  • ตั้งอกตั้งใจฟังเวลามีเพื่อนร่วมงานเล่าประสบการณ์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของเขาให้ฟัง โดยเฉพาะถ้าเขาทำไม่สำเร็จ บอกเขาว่าเขาพยายามทำดีที่สุดแล้ว
  • บอกข้อเท็จจริงและสถิติตัวเลขเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เพื่อนร่วมงานฟัง หรือแค่บอกว่าคุณอยากให้นมแม่ต่อเพราะหมอเด็กแนะนำก็ได้

 

 

รักษาปริมาณน้ำนม “ห่างกันดูดขวด อยู่ด้วยกันเข้าเต้า”

      15. ระหว่างวันทำงาน หาโอกาสให้นมลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะบ่อยแค่ไหนก็ขึ้นกับชั่วโมงทำงานในแต่ละวันของคุณ แม่ส่วนใหญ่
           ให้นมลูกได้อย่างน้อยสี่ครั้งต่อวัน คือ ตอนเช้าก่อนไปทำงาน 1 ครั้ง ตอนเย็น 2 ครั้ง ก่อนนอนอีก 1 ครั้ง ถ้าโชคดีมีที่เลี้ยงลูกแถวๆ ที่ทำงาน
           คุณอาจเดินไปให้นมลูกช่วงพักและช่วงกลางวันและไม่ต้องปั๊มนมเลยก็เป็นได้

      16. ให้ลูกเข้าเต้าแม่อย่างเดียวเวลาไม่ได้ไปทำงาน ถ้าอยากให้ปริมาณน้ำนมคงที่ ให้ลูกเข้าเต้าบ่อยๆ เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน
            พยายามให้ขวดเฉพาะเวลาที่คุณไปทำงานหรือไปข้างนอก และเข้าเต้าอย่างเดียวเวลาที่อยู่ด้วยกัน วิธีนี้จะช่วยรักษาปริมาณน้ำนม
            ของคุณไว้ ทำให้ลูกไม่ลืมเต้า และยังจะทำให้คุณกับลูกรู้สึกผูกพันกันอีกด้วย

 

แม่ส่วนใหญ่ที่ทำงานสัปดาห์ละห้าวันตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์พบว่าปริมาณที่ปั๊มได้จะลดลงเรื่อยๆ จากต้นถึงปลายสัปดาห์ และกลับมารู้สึกว่าเต้านมตึงและปั๊มได้มากขึ้นในวันจันทร์หลังจากให้ลูกเข้าเต้าเต็มที่ช่วงสุดสัปดาห์ บางคนถึงกับต้องปั๊มบ่อยขึ้นเพื่อไม่ให้นมคัดเลยทีเดียว (นมส่วนเกินนี้ให้เก็บไว้ใช้ช่วงปลายสัปดาห์ตอนที่ปั๊มได้น้อยลง) หลังจากผ่านไปสักสองสามสัปดาห์ ร่างกายของคุณจะปรับตัวสร้างปริมาณน้ำนมได้พอดีกับที่ลูกต้องการ

      17. มีความสุขกับการให้นมลูกตอนกลางคืน เด็กบางคนนอนมากขึ้นและกินนมน้อยลงตอนกลางวันที่แม่ไปทำงาน และจะดูดนมถี่ๆ ที่เต้าแม่
           ช่วงกลางคืนแทนเพื่อเป็นการชดเชย

 

แม่ที่ประสบความสำเร็จในการให้นมลูกหลังกลับไปทำงานเข้าใจว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ แถมออกจะชอบอกชอบใจด้วยซ้ำ พวกเธอพาลูกไปนอนด้วยกัน ทำให้ได้พักไปด้วยระหว่างที่นอนให้นมลูก และดีใจที่มีโอกาสที่จะได้อยู่ใกล้ชิดลูกเพิ่มขึ้น อันที่จริงแล้วหลายคนบอกว่านอนหลับสนิทกว่าด้วยซ้ำเวลามีลูกนอนอยู่ข้างๆ ลูกก็รู้สึกสงบและอบอุ่นที่ได้นอนข้างแม่

      18. ถ้าพยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว นมแม่ยังก็ไม่พอ หรือมีเหตุจำเป็น คุณสามารถให้นมแม่ร่วมกับนมผงได้ ให้นมแม่ร่วมกับนมผงก็ยังดีกว่าให้นมผงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าจะมีแม่จำนวนมากที่สามารถให้นมแม่ล้วนๆ แก่ลูกได้เป็นเวลาหลายเดือนหลังกลับไปทำงาน ก็ยังมีบางคนที่ต้องให้นมผงเสริมแก่ลูกเวลาที่ปั๊มนมได้ไม่พอ บางคนก็ให้ลูกเข้าเต้าแม่เฉพาะเวลาอยู่ด้วยกัน และให้นมผงเวลาไปทำงาน ถ้าคุณเลือกที่จะให้นมแม่ควบคู่ไปกับนมผง คิดสักนิดว่าจะจัดระบบการให้นมสองอย่างนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาว่าลูกอยากหย่านมเร็วกว่าที่ตั้งใจไว้และการให้นมผงมากๆ จะทำให้น้ำนมคุณเองลดลง

 

 

ลดระดับความเครียดของคุณ

       19. ดูแลตัวเอง เมื่อกลับจากทำงาน ให้คุณตรงไปนอนให้นมลูก ถ้าคุณกับลูกงีบหลับด้วยกันได้ช่วงนี้สั้นๆ ครอบครัวของคุณก็จะพลอย
            ได้พักไปด้วย หาอาหารว่างง่ายๆ ที่มีประโยชน์กิน จะได้ไม่หิวจนต้องรีบกินอาหารเย็น สนุกกับเจ้าตัวเล็กของคุณ ถ้ามีลูกคนโต อย่าลืม
            ให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมด้วยอีกคน

 

คุณควรทำชีวิตที่บ้านให้เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้ให้ความสนใจกับเจ้าตัวน้อยและคนอื่นในครอบครัวมากกว่าจะมัวแต่ไปซักรีดเสื้อผ้า ซื้อของใช้ ทำความสะอาด ทำอาหาร หรือจัดบ้าน คุณอาจจะขอให้สามีช่วยงานบ้าน หรือจ้างคนมาช่วยทำงานบ้านบางอย่างไปเลย งานบางอย่าง เช่น ขัดล้างหน้าต่างหรือรีดผ้าอาจจะเลิกทำไปก่อนสักสองสามปี ใช้เป้อุ้มอุ้มเจ้าตัวเล็กไปด้วยเวลาทำงานบ้านบางอย่าง เช่น รดน้ำต้นไม้ จะได้มีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้นอีกนิด

      20. ช่วยกันเลี้ยงลูก ช่วยกันทำงานบ้าน ถ้าแม่เป็นคนให้นมลูกและช่วยหารายได้ พ่อก็ควรจะช่วยดูแลลูกและทำงานบ้านบ้าง การเลี้ยงลูก
            ด้วยนมแม่เป็นภาระของทั้งครอบครัว อธิบายให้สามีของคุณฟังถึงประโยชน์ของนมแม่ ลูกวัยเรียนก็น่าจะมีส่วนช่วยรับภาระงานในบ้าน
            ด้วย เพื่อเขาจะได้นำนิสัยอันนี้ไปใช้ในครอบครัวตัวเองเมื่อโตแล้ว

 

จริงๆ แล้วคุณกำลังสร้างบรรทัดฐานสองเรื่อง ความสำคัญของการให้นมแม่กับลูก และผลดีของการรับผิดชอบร่วมกันของทั้งครอบครัว ไหนจะให้นมลูก ไหนจะทำงาน คุณไม่เหลือแรงพอจะทำทั้งน้ำนม เงิน อาหารเย็น หรือหน้าที่สารพัดของการเป็นภรรยาได้หมดหรอก ให้คนอื่นทำงานบางอย่างแทนคุณบ้าง คุยเรื่องความรับผิดชอบเหล่านี้กับสามีของคุณและลูกที่โตพอแล้ว ให้เขาแบ่งเบางานเหล่านี้จากคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

Visitors: 94,920